วันพุธที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

โครงงานวิทยาศาสตร์เชิงสำรวจ

ชื่อเรื่อง การศึกษาความหลากหลายของเฟินในพื้นที่โรงเรียนกาบเชิงวิทยา
ประเภท วิทยาศาสตร์ชีวภาพ
ผู้จัดทำ นางสาวปัญจมา อาจหาญ
นางสาวรัตติยากร ศรีนิล
นางสาวอรวรรณ ทองสะอาด
ครูที่ปรึกษา นางบุญล้วน ชินวงษ์
ที่ปรึกษาพิเศษ นายเอนก พลคะชา
สถานศึกษา โรงเรียนกาบเชิงวิทยา อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์
บทคัดย่อ
โครงงานเรื่อง การศึกษาความหลากหลายของเฟินในพื้นที่โรงเรียนกาบเชิงวิทยานี้จัดทำขึ้นเพื่อ สำรวจ จัดจำแนกหมวดหมู่ ชนิด ประเภทของเฟินที่มีอยู่ในบริเวณพื้นที่ป่าของโรงเรียนกาบเชิงวิทยา คณะผู้จัดทำได้ร่วมกันวางแผนปฏิบัติงาน โดยเริ่มจากการสำรวจเฟิน และถ่ายรูปเฟินที่มีอยู่ในบริเวณพื้นที่ป่าของโรงเรียนกาบเชิงวิทยา นำมาเปรียบเทียบกับข้อมูลที่ศึกษาจากอินเตอร์เน็ต เพื่อทำการจำแนกเฟินที่พบตามถิ่นที่อยู่อาศัย
จากการสำรวจเราได้จัดเป็นหมวดหมู่จำแนกประเภทของเฟิน โดยยึดตามลักษณะของถิ่นที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อม หรือนิเวศวิทยา ดังต่อไปนี้1. กลุ่มเฟินดิน-ทนแดด (Terrestial-Sun-Ferns) ได้แก่ โชน (dicranopteris linearis) เฟินเหล่านี้มีประโยชน์ในแง่ของการอนุรักษ์หน้าดิน ป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดินอีกด้วย
2. กลุ่มเฟินดิน-ชอบร่มเงา (Terrestial-Shade-Ferns) ได้แก่ เฟินลูกไก่ดำ หรือ กูดกบ ( Pleocnemia irrecgularis ) เฟินใบตำลึง เหล่านี้ เป็นต้น เราจะพบได้ตามพื้นในป่า อยู่ใต้ร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ ที่มีแสงแดดส่องลอดผ่านลงมาบ้างในบางชั่วโมง แต่ไม่ถึงกับแดดจัดจ้าตลอดวัน เฟินบางชนิด เราอาจพบได้ในบริเวณที่ร่มสนิท แดดส่องลงมาไม่ถึง มี เพียงแสงสว่างเท่านั้น เราสามารถใช้เฟินเหล่านี้เป็นอาหารได้
3. กลุ่มเฟินเถาเลื้อย (Climbing Ferns) ได้แก่ ย่านลิเภา ในสกุล Lygodium sp. ที่เราเคยได้ยินชื่อกันบ่อยๆ จากงานหัตถกรรมเครื่องจักสาน กระเป๋าลิเภา เป็นต้น เฟินกลุ่มนี้ จะพบเลื้อยพันเกาะอยู่ตามต้นไม้
4. กลุ่มเฟินเกาะอาศัย หรือไม้อากาศ (Epiphytes) ได้แก่ กระเช้าสีดา เฟินกลุ่มนี้ เจริญเติบโตอยู่บนต้นไม้ แต่ไม่ได้เป็นประเภทกาฝาก (parasite) เพราะอาศัยเกาะอยู่ตามกิ่งตามลำต้นของต้นไม้ รากจะเกาะอยู่เฉพาะที่ผิวหรือเปลือกไม้เท่านั้น ไม่ได้ไชรากเข้าไปแย่งอาหารและน้ำจากต้นไม้ที่ยึดเกาะ แต่ได้จากเศษเปลือกไม้ ใบไม้ ลูกไม้ ที่หล่นทับถมลงมา และมักพบเฟินจำพวกนี้อาศัยอยู่รวมกับพวกมอส ซึ่งจะช่วยกันรักษาความชื้นให้กันและกัน
5. กลุ่มเฟินผา (Lithophytic Ferns หรือ Rock Ferns) ได้แก่ เฟินปีกแมลงทับไทย กลุ่มเฟินผา จะเป็นกลุ่มที่เจริญเติบโตเฉพาะบนหิน โขดหิน หรือตามหน้าผา เท่านั้น เฟินกลุ่มนี้ จะปรับตัวเองเพื่อให้เข้าสภาพแวดล้อมในแต่ละฤดูกาล อย่างเช่น ในช่วงฤดูแล้ง มันจะพักตัว ด้วยการทิ้งใบ หรือห่อใบเอาไว้ เพื่อป้องกันการสูญเสียน้ำจากลำต้น หรือพัฒนาระบบรากให้เป็นฟองน้ำ เพื่อดูดซับความชื้นจากอากาศ
6. กลุ่มเฟินน้ำ (Aquatic Ferns) เฟินบางชนิด เป็นพืชน้ำ มีทั้งชนิดที่ลอยอยู่ตามผิวน้ำ และชนิดที่ขึ้นอยู่กับดินโคลนตามแหล่งน้ำขังตื้นๆ หรือตามริมตลิ่งก็มี บางชนิด ที่เราเคยพบเห็นกันทั่วไป และมีหลายคนอาจไม่เคยนึกมาก่อนว่า เป็นพวกเฟิน อย่างเช่น แหนแดง (Azolla pinnata) จอกหูหนู (Salvinia cucullata) ผักแว่น (Marsilea crenata) เฟินขาเขียดน้ำหรือกูดกวาง (Ceratopteris thalictroides) ปรงไข่ ปรงหนู (Acrostic)
7. กลุ่มเฟินภูเขา (Mountain Fern)
นอกจากนั้นทางคณะผู้จัดทำได้นำข้อมูลที่ได้จากการศึกษาเฟินมาจัดจำแนกตามหมวดหมู่อีกวิธีการหนึ่ง คือแบ่งตามลักษณะทางพฤกษศาสตร์ โดยการจัดหมวดหมู่ของเฟินเป็น อันดับ (Order) วงศ์ (Family) สกุล (Genus) และชนิด (Species) ซึ่งเหมือนกันกับการจัดหมวดหมู่ทั่วไปของพืชนั่นเอง และยังพบอีกว่าบริเวณป่าที่มีเฟินอาศัยอยู่ แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่า กล่าวคือ มีความหลากหลายทางชีวภาพทั้งพืชและสัตว์ มีทรัพยากรที่มนุษย์สามารถใช้ประโยชน์ได้หลายชนิด เช่น ผักกูด ผักติ้ว เห็ดชนิดต่างๆ แมลงกุดจี่ แมลงอื่นๆอีก นอกจากนั้นยังมีสัตว์ป่าอาศัยอยู่อีกหลายชนิด เช่น กระรอก กระแต กระต่าย นก ไก่ป่า แมลงหายากหลายชนิด กระรอกบินเล็ก ซึ่งสามารถใช้เป็นแหล่งการเรียนรู้ทางธรรมชาติได้เป็นอย่างดี

2 ความคิดเห็น:

Corelakorn กล่าวว่า...
ความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ
Corelakorn กล่าวว่า...

สามารถดูผลิตผลิตภัณฑ์ กระเป๋าหญ้าลิเภา จากกลุ่มแม่บ้านเพิ่มเติมได้นะคะ